การออกแบบห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุเป็นการวางแผนรองรับอนาคตที่คุณต้องวางแผนเสียแต่เนิ่นๆ คุณจะได้มีเวลาจัดการได้อย่างรอบคอบ ได้ครบทุกเรื่องในรายละเอียดที่จำเป็น หากเราได้ปรับปรุงห้องน้ำให้คนที่เรารักใช้งานได้สะดวกเหมาะสมกับเวลา
ลองมาดูสถิติเหล่านี้กันค่ะจากการสำรวจของ National Council on Aging ของ สหรัฐอเมริกาในปี 2017 พบว่า ทุก 19 นาที มีผู้สูงวัย 1 คนเสียชีวิตจากการล้ม และทุก 11 วินาทีมีผู้สูงอายุ ถูกส่งไปยังห้องฉุกเฉินเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการลื่นล้ม น่ากลัวนะคะนี่ขนาดสหรัฐอเมริกาที่เรารู้กันว่ามีมาตรฐานด้านสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ ที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
การล้มในบ้านส่วนใหญ่แล้วจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บน้อยถึงปานกลาง แต่ถ้าเป็นการ ล้มในห้องน้ำแล้วละก็มักจะเป็นเรื่องใหญ่เสมอๆ สำหรับคุณๆที่อยู่บ้านเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ หรือคุณที่ต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ ผมคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก ที่ต้องคิดการณ์ไว้ล่วงหน้ายาวๆ บางครั้งคุณอาจจะต้องตัดสินใจออกแบบห้องน้ำใหม่ หรือปรับ ห้องน้ำเดิมเสียแต่เนิ่นๆเพื่อรองรับวัยที่เพิ่มขึ้น และสุขภาพที่เสื่อมลงของคนที่เรารักอย่าง เลี่ยงไม่ได้
สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นเรื่องแรกๆเลยคือ อายุและสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่ ถ้าท่านทั้งสองยังคงแข็งแรงสุขภาพดีทั้งคู่ ต้องบอกว่าคุณเป็นคนโชคดีอย่างมาก สิ่งที่คุณต้องทำคือดูแลสุขภาพของท่านให้ดีต่อไป แต่ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมักจะมีเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพที่เสื่อมถอยตามวัย สิ่งที่คุณต้องพิจารณาก็คือ
1. ในระยะเวลาอันใกล้นี้ท่านต้องให้วอร์คเกอร์หรือวีลแชร์หรือไม่ ถ้ามีแนวโน้มว่าอาจจะ ต้องใช้ คุณต้องออกแบบห้องน้ำให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1.5 เมตรเพื่อให้รถเข็นกลับตัว ได้อย่างสะดวก
2. สถานการณ์ด้านสุขภาพของท่านจะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป หรือจะเสื่อมลงกว่านี้ ถ้าเป็นในกรณีหลัง คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจ้างผู้ดูแลหรือไม่ว่าคุณจะดูแลท่านเองในห้องน้ำ คุณจำเป็นจะต้องติดตั้งโทรศัพท์ในห้องน้ำ สำหรับให้ท่านหรือผู้ดูแลขอความ ช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน หรือคุณอาจจะติดตั้งระบบขอความช่วยเหลือฉุกเฉินเป็นปุ่ม กดแบบที่ใช้ตามโรงพยาบาล อันนี้แล้วแต่ความวิกกฤตของแต่ละท่านนะคะ
ประตูห้องน้ำควรมีความกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร เพื่อความสะดวกของผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น และประตูห้องน้ำต้องเป็นบานเลื่อนหรือบานเปิดออกนอกห้องน้ำ เพราะเวลาที่ผู้ สูงอายุหกล้มและนอนขวางอยู่บริเวณหน้าประตู ถ้าเป็นประตูแบบเปิดเข้าทั่วไปเราก็จะไม่ สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทัน อาจมีการเจาะช่องกระจกสำหรับมองเข้าไปข้างในได้ และควร ใช้มือจับประตูแบบก้านโยก เพื่อผู้สูงอายุจะได้ไม่ต้องออกแรงข้อมือในการบิดหมุนแบบประตู ลูกบิด
พื้นห้องน้ำควรมีระดับเดียวกับพื้นห้องนอน เพื่อป้องกันการสะดุดล้มและให้เข็นรถเข็น ได้สะดวกไม่สะดุด ใช้ตะแกรงกันน้ำบริเวณหน้าประตูและกั้นระหว่างส่วนเปียก-ส่วนแห้งแทน การเปลี่ยนระดับหรือใช้ขอบกั้นน้ำ ควรใช้วัสดุปูพื้นทีมีผิวผืด มีค่า R10 ค่า R หรือ Ramp นี่คือ ค่าความหนืดหรือค่ากันลื่นของพื้นผิวของกระเบื้อง คุณควรเปลี่ยนสีหรือลายกระเบื้องให้โซน เปียกและโซนแห้งแตกต่างกันอย่าชัดเจนให้ท่านสังเกตุได้ง่ายๆด้วย
ฝักบัวอาบน้ำ การเลือกฝักบัวอาบน้ำสำหรับผู้สูงอายุควรเลือกแบบที่มีแรงดันน้ำต่ำ หรือปรับระดับแรงดันน้ำได้ ฝักบัวสามารถปรับขึ้นลงได้เพื่อให้ทุกคนในบ้านใช้ได้ด้วย วาล์วเปิด-ปิดฝักบัวควรเป็นแบบก้านยาวเพื่อผู้สูงอายุจะได้ไม่ต้องออกแรงมาก ห้ามใช้ กระจกกันน้ำกระเด็นอย่างเด็ดขาดเพื่อ ใช้ผ้าม่านพลาสติกกันเพื่อกันน้ำกระเด็นก็เพียงพอแล้ว
เก้าอี้นั่งอาบน้ำหรือที่นั่งอาบน้ำเป็นสิ่งจำเป็น เพราะผู้สูงอายุไม่สามารถยืนได้นาน เก้าอี้สูงประมาณ 45-50 เซนติเมตร คุณควรติดแผ่นกันลื่นที่ปลายขาเก้าอี้ เพื่อป้องกันการลื่น ไถล หรือถ้าก่อจากปูนแล้วปูกระเบื้องยิ่งดีเพราะแข็งแรงทนทาน แต่ควรหาแผ่นพลาสติกรอง นั่งแบบกันลื่น และมีราวจับเพื่อช่วยพยุงตัวที่ฝาผนังข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ยิ่งดี
อ่างอาบน้ำสำเร็จรูปสำหรับผู้สูงอายุก็มีขาย โดยจะมีประตูเปิดสำหรับผู้สูงอายุเดินเข้า ไปได้ง่าย ไม่ต้องก้าวขาสูง ๆ ข้ามเหมือนอ่างอาบน้ำทั่วไป ด้านในแบ่งเป็น 2 ส่วนคือส่วน เก้าอี้ และมีราวจับด้านข้างสำหรับพยุงตัวกันลื่นเวลาจะนั่งหรือลุกจากเก้าอี้ อีกส่วนเป็นที่โล่ง ไว้สำหรับอาบน้ำ แต่อ่างแบบนี้ผมกลับไม่ค่อยเชียร์เพราะดูเหมือนว่าเมื่อท่านมีอายุมากขึ้นจะใช้งานได้ลำบาก และถ้าจะรื้อถอนออกก็เป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่
เคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าต้องมีขอบและมุมมน ป้องกันอันตรายจากการชนหรือล้มกระแทก และต้องติดตั้งให้มั่นคงแข็งแรง รับน้ำหนักจากการเท้าแขนสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้ไม้เท้าได้ ควรสูงจากพื้น 70-80 เซนติเมตร ถ้าผู้สูงอายุใช้รถเข็นต้องเลือกรูปแบบที่มีส่วนโค้งเว้าด้าน หน้า โดยให้พื้นที่ข้างใต้อ่างล้างหน้าโล่งเพื่อให้สามารถสอดรถเข็นเข้าไปได้สะดวก ส่วนก๊อก น้ำของอ่างล้างหน้า ควรเลือกใช้ก๊อกแบบก้านโยกแบบปัดไปด้านข้าง หรือก๊อกน้ำ อัตโนมัติ ผู้สูงอายุจะได้ไม่ต้องออกแรงในการปิด-เปิด
ควรเลือกใช้โถสุขภัณฑ์รุ่นที่มีที่นั่งสูงจากพื้น 43-45 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้สูงอายุลุก-นั่ง ได้สะดวก และควรมีราวทรงตัวบริเวณด้านข้างของโถสุขภัณฑ์ ถ้าจะให้ดีผมว่าทำทั้งสองฝั่ง เลยดีกว่า เพราะมีหลายครั้งที่คุณติดตั้งราวจับฝั่งเดียวแล้วต้องมาติดเพิ่มอีกทีหลัง ส่วนที่กด น้ำชำระควรเลือกใช้เป็นแบบคันโยก เลือกใช้ฝารองนั่งอัตโนมัติหรือสายชำระควรติดตั้งไว้ด้านข้างให้มือเอื้อมหยิบใช้ได้ง่าย ไม่ต้องเอี้ยวตัวไปด้านหลัง
คุณต้องติดตั้งสวิทซ์ไฟห้องน้ำให้ต่ำกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อให้ผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็นเอื้อมกดได้สะดวก ถ้าห้องน้ำมีไฟน้อยดวงควรเพิ่มแสงสว่างด้วยการติดหลอดไฟให้มากขึ้น และใช้ แสงสีขาวเพื่อให้มองเห็นรายละเอียดและรูปทรงของสิ่งของในห้องน้ำ ขวดน้ำยา หลอดยาสีฟัน ยาสระผม และสามารถอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ง่ายและชัดเจน หรือถ้าคุณชอบเทคโนโลยีและมีงบประมาณมากพอ คุณอาจติดตั้งระบบไฟเปิดปิด อัตโนมัติควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือระบบเซนเซอร์ที่จับความเคลื่อนไหวแล้วเปิดไฟอัตโนมัติก็สะดวกดีนะคะ ท่านจะได้ไม่ต้องเอื้อมมือกดสวิทซ์
การออกแบบห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุเป็นการวางแผนรองรับอนาคตที่คุณต้องรีบคิดเสียแต่เนิ่นๆ คุณจะได้มีเวลาจัดการได้อย่างรอบคอบ ได้ครบทุกเรื่องในรายละเอียดที่จำเป็น หากเราได้ปรับปรุงห้องน้ำให้คนที่เรารักใช้งานได้สะดวกเหมาะสมกับเวลาและการเปลี่ยนแปลงย่อมดีกว่าให้การเปลี่ยนแปลงมาจัดการเรา..ใช่ไหมคะ